บ่อสิบสอง

ร่องรอยประวัติศาสตร์

 

      สถานที่แห่งหนึ่งที่ยังคงทิ้งร่องรอยเรื่องราวในอดีตคือ ป่าบ่อสิบสอง จังหวัดพะเยา เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในการสร้างงานศิลปะหินทรายอยู่มากมาย ในยุคสมัยหนึ่งในอาณาจักรภูกามยาว มีการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์  ในลักษณะต่างๆ ตามความเชื่อและอุดมคติ โดยนำหินทรายที่มีอยู่มากมายตามภูเขาในเมืองพะเยามาสร้างสรรค์ จนกลายเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น 

     

ป่าบ่อสิบสองดั้งเดิมนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าเฮือง ป่าตึง และป่าแงะ มีต้นไม้ใหญ่เต็มผืนป่า เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ บริเวณป่าบ่อสิบสอง พบบ่อบนหินทรายจำนวนสิบสองบ่อ มีทั้งบ่อเล็กบ่อใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อป่าบ่อสิบสองแห่งนี้ ซึ่งบ่อมีจุดเด่นที่

ปากบ่อคือ มีรอยลับคมมีด หอก ดาบ ของไพร่พลสมัยโบราณ และพบก้อนหินใหญ่ตั้งตระหง่าน มีลักษณะคล้ายที่นั่งหรือบัลลังก์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบัลลังก์หินที่นั่งของพระยาเจื๋องหรือพ่อขุนเจือง มหาราชแห่งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

          พ่อขุนเจือง เป็นโอรสของพ่อขุนจอมธรรม เจ้าผู้ครองอาณาจักรภูกามยาว ในยุคพ่อขุนเจืองผู้ซึ่งเป็นนักรบของอาณาจักรภูกามยาว เป็นบุคคลที่มีบุคลิกที่ต่างไปจากพ่อขุนจอมธรรมผู้เป็นพระราชบิดา กล่าวคือ พระองค์ทรงเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะผนวกเอาดินแดนของอาณาจักรต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยการขยายอำนาจไปสู่อาณาจักรต่างๆ ตั้งแต่อาณาจักรภูกามยาว อาณาจักรโยนก(หิรัญเงินยาง) อาณาจักรล้านช้าง(หลวงพระบาง)อาณาจักรไดแวด(แกว)หรือปัจจุบันคือ เวียดนามตอนเหนือ พ่อขุนเจืองนับเป็นกษัตริย์ที่ทรงแสนยานุภาพทางด้านทหารมากที่สุด สามารถรวบรวมดินแดนและเป็นใหญ่ใน ๖ ประเทศ อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง พ่อขุนเจือง ทรงเป็นมหาราชที่ชนชาติต่างๆ อ้างเป็นวีรบุรุษของตนเอง พ่อขุนเจืองทรงครองราชย์ในขณะพระชนมายุ ๓๗ พระชันษา ทรงสวรรคตในสนามรบด้วยวัย ๖๗ พระชันษา ในต่างแดน

          จากประวัติศาสตร์ของพ่อขุนเจือง ที่ทรงเน้นด้านการรวบรวมไพร่พลและฝึกฝนวิชาการทหาร และความเชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ ผนวกกับจุดที่ตั้งของป่าบ่อสิบสองซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการตั้งรับข้าศึก เพราะเป็นจุดที่อยู่ที่สูงมีผาหินที่ลาดยาว สามารถมองเห็นพื้นที่โดยทั่วไปของเมืองได้ และสิ่งที่ค้นพบจากร่องรอยบนแผ่นหินในป่าบ่อสิบสองไม่ว่าจะเป็นหินบัลลังที่นั่งพระยาเจือง ภาพเขียนโบราณ ร่องรอยคมมีด หอก ดาบ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวพะเยาที่อยู่ล้อมรอบป่าบ่อสิบสอง จึงเป็นข้อสันนิฐานว่าป่าบ่อสิบสองแห่งนี้ คือที่ตั้งทัพหลวงหรือทัพหน้า ที่ฝึกฝนทหารในการรบข้าศึกศัตรูและเพื่อใช้ในการป้องกันเมือง รวมถึงเป็นจุดสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ของการสร้างผังเมืองอาณาจักรภูกามยาว นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าบริเวณป่าบ่อสิบสอง อาจเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคโบราณ จากการค้นพบขวานหินและภาพเขียนบนแผ่นหินในป่าบ่อสิบสอง

          มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ใครที่เข้าไปหาของป่าในป่าบ่อสิบสองนี้ก็จะพบเจอเหตุการณ์ประหลาดหลายอย่าง บางคนพบถ้ำที่มีเสือเฝ้าอยู่ บางคนพบเสือ พบลิงเป็นร้อยๆตัว

          ส่วนหินจากป่าบ่อสิบสองที่ถูกนำไปสร้างโบราณวัตถุและแกะสลักพระพุทธรูป ชิ้นงานเหล่านั้นถูกเก็บไว้ในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี และวัดอนาลโย ในอำเภอเมืองพะเยา

          นอกจากนี้ป่าบ่อสิบสองยังมีจุดชมวิวทะเลหมอกและชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม เรียกว่า ผาหัวเรือ

2,227 views