กรมการปกครอง แสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564 พบว่า มีจำนวนประชากรเกิดทั้งหมด 544,570 คน ลดลงจากปี 2563 ถึง 42,798 คน ขณะที่ประชากรที่เสียชีวิตในปี 2564 มีจำนวน 563,650 ซึ่งเป็นสถิติปีแรกที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย เหตุผลสำคัญ คือ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ประชากรวัยผู้สูงอายุเสียชีวิตเร็วขึ้น ส่งผลให้อัตราการตายในปี 2564 สูงขึ้น

“การลดลงของเด็กเกิดใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร” ในปี 2565 นี้โครงสร้างประชากรไทยได้เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชากรเด็กมีเพียงร้อยละ 16-17 ของประชากรทั้งหมด

องค์การสหประชาชาติได้นิยามความหมาย “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศท่ีมีประชากรอายุ 60 ปีข้ึนไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้ง ประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อย ละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ

“สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มท่ี” (Super-aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มี ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของ ประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ในวารสาร The Lancet (แลนเซ็ต) ที่เปิดเผยข้อมูลว่าหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2643 ประชากรของประเทศไทยจะมีจำนวนลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคนเท่านั้น

ประเด็นที่น่ากังวล คือ เมื่อสัดส่วนเด็กลดลง ประชากรในวัยทำงานลดลงและฐานภาษีก็จะลดลงเช่นกัน ในขณะที่คนที่อยู่ในวัยพึ่งพิงจะเพิ่มมากขึ้นและต้องการสวัสดิการต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้นเช่นกัน จากรายงาน Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 คัดกรองความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน (ADL) ผู้สูงอายุจำนวน 7,689,605 คน พบว่ามีผู้สูงอายุติดบ้านจำนวน 192,290 คน ติดเตียง 45,287 คน

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) จะเป็นกลไกหลักที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมดูแลผู้สูงอายุที่จะย้ายกลับถิ่นฐานภูมิลำเนา โดยเน้นการวางแผนเรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่และการเตรียมพร้อมระบบ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“5 จังหวัดแรกที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด” อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุ รวม 1,063,871 คน เป็นผู้ชาย 441,903 คน ผู้หญิง 621,968 คน อันดับ 2 นครราชสีมา มีผู้สูงอายุ รวม 453,388 คน เป็นผู้ชาย 202,231 คน ผู้หญิง 251,157 คน อันดับ 3 เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุ รวม 333,692 คน เป็นผู้ชาย 149,919 คน ผู้หญิง 183,773 คน อันดับ 4 ขอนแก่น มีผู้สูงอายุ รวม 312,933 คน เป็นผู้ชาย 141,834 คน ผู้หญิง 171,099 คน และ อันดับ 5 อุบลราชธานี มีผู้สูงอายุ รวม 276,628 คน เป็นผู้ชาย 127,031 คน ผู้หญิง 149,597 คน ตามลำดับ

แม้ว่าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามปัจจัยเร่งที่ซ้ำเติม คือ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากขึ้น อีกทั้งภาวะลองโควิดก็ยังประเด็นที่น่ากังวล และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นปัญหาที่สำคัญมากและต้องวางแผนรับมืออย่างรัดกุม
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด #สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

แหล่งที่มา
http://doc.anamai.moph.go.th/index.php?r=str-project/view&id=4229

https://www.isranews.org/.../106341-isranews-news-29.html

https://www.matichon.co.th/life.../social-women/news_3176578

https://thestandard.co/birth-death-rate-in-9-years/